หลักกฎหมายทั่วไป
กฎหมาย (law หรือ legislation) คือ กฎอันมีที่มาจากการตราขึ้นโดยสถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ หรือจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ ใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ
ทั้งนี้ ที่มาของกฎหมาย หรือบ่อเกิดของกฎหมาย (source of law) หมายถึง สภาพที่กฎหมายปรากฏตัว สำหรับประเทศไทยนั้น เมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายพื้นฐาน และพิจารณาตามกฎหมายอื่น ๆ โดยภาพรวมแล้ว จะพบว่ากฎหมายไทยปรากฏตัวอยู่ในสามรูป คือ รูปกฎหมายลายลักษณ์อักษร รูปจารีตประเพณี และรูปหลักกฎหมายทั่วไป
กฎหมายลายลักษณ์อักษร
กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรของไทยสามารถจำแนกตามรูปแบบและองค์กรที่ตราขึ้นได้ตามลำดับดังนี้ 1) รัฐธรรมนูญ 2) กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3) พระราชบัญญัติ 4) พระราชกำหนด 5) พระราชกฤษฎีกา 6) กฎกระทรวง และ 7) กฎหมายที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นตราขึ้น
จารีตประเพณี
จารีตประเพณี ตามประวัติศาสตร์นั้นได้รับการใช้บังคับเสมอเป็นกฎหมายมาแต่บุรพกาลก่อนที่สังคมจะรวมเป็นรัฐและมีระบบอักษรใช้ ปัจจุบันบางประเทศมีการบันทึกจารีตประเพณีเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อประโยชน์ในการสืบทอดและขจัดข้อสงสัยด้วย
ความสำคัญของจารีตประเพณีอยู่ที่ ถึงแม้จะมีความพยายามในการเขียนกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรให้มีความกว้างขวางเพียงไร แต่ก็ไม่อาจครอบคลุมกรณีทั้งปวงได้ จึงต้องอาศัยจารีตประเพณีมาประกอบให้สมบูรณ์เสมอ เช่น ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) ว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า "สำหรับประเทศไทยแล้ว เห็นว่า เมื่อประเทศไทยรับเอาระบบประมวลกฎหมาย (code law) มาใช้ ก็น่าที่จะยอมรับแนวคิดที่ว่าจารีตประเพณีเป็นที่มาของกฎหมายในตัวเอง ซึ่งหมายความว่า เมื่อจารีตประเพณีเป็นที่มาของกฎหมายในตัวมันเอง จารีตประเพณีก็ใช้บังคับกับสังคมได้โดยตรงโดยไม่ต้องมีการออกกฎหมายมารองรับ"
จารีตประเพณีจะใช้ได้ในเมื่อไม่อาจหากฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาใช้แก่กรณีนั้น ๆ แล้ว ฉะนั้น ในกรณีที่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรระบุไว้โดยชัดแจ้งแล้วจะไม่ใช้จารีตประเพณีเป็นอันขาด ทั้งนี้ จารีตประเพณีที่ใช้ได้เพื่อการอุดช่องว่างทางกฎหมายเช่นว่าต้องมีลักษณะเป็นจารีตประเพณีที่ได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานและสม่ำเสมอจนกลายเป็นธรรมเนียม กับทั้งต้องมีสภาพที่สังคมเห็นว่าเป็นสิ่งถูกต้อง สมควรปฏิบัติตาม เป็นต้น นอกจากนี้ จารีตประเพณีที่จะมาใช้จะมีลักษณะดังต่อไปนี้มิได้เลย คือ 1) มาสร้างความผิดทางอาณาขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามหลักที่ว่า "ไม่มีความผิดถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด" และ "ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด" และ 2) มากำหนดหน้าที่ของบุคคลเพิ่มจากที่กฎหมายลายลักษณ์อักษรกำหนดไว้แล้วไม่ได้ เช่น จะมีจารีตประเพณีให้เสียภาษีมรดกทั้ง ๆ ที่กฎหมายไม่ได้บังคับให้เสียไม่ได้
หลักกฎหมายทั่วไป
หลักกฎหมายทั่วไป ได้แก่ หลักกฎหมายที่ผู้พิพากษาค้นคว้าหามาจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อใช้ในกรณีที่ไม่มีทั้งกฎหมายลายลักษณ์อักษร จารีตประเพณี และบทกฎหมายอันใกล้เคียงที่สุดใช้แล้ว ซึ่งผู้พิพากษาจะอาศัยสิ่งใดเป็นเครื่องค้นหาหลักกฎหมายทั่วไปนั้น นักนิติศาสตร์ให้ความเห็นว่า
1. สุภาษิตกฎหมาย คือ คำกล่าวที่ปลูกถ่ายความคิดทางกฎหมาย และยังเป็นบทย่อของหลักกฎหมายต่าง ๆ ด้วย เช่น
"กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา" : มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1531/2512 พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นโจทก์ นายสุดใจ หลักคำเป็นจำเลย ความว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบังอาจใช้ขวานคมกว้างสองนิ้วครึ่ง ยาวสามนิ้วครึ่ง ทั้งตัวและด้ามขวานยาวสิบเจ็ดนิ้ว ฟันต้นคอร้อยตรีประพันธ์ ศิวิไล โดยเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ไม่บรรลุผลโดยกระดูกต้นคอแตก ได้รับการรักษาพยาบาลทันท่วงทีจึงไม่ตาย ขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขวานของกลางเป็นขวานขนาดเล็ก จำเลยฟันครั้งเดียว ไม่ฟันซ้ำ การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส ศาลฎีกาว่า ขวานขนาดนั้นถือเป็นขวานขนาดใหญ่อยู่มิใช่น้อย หมายฟันที่คอซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญโดยแรง เป็นบาดแผลฉกรรจ์ ถ้าไม่รีบรักษาทันท่วงทีก็อาจถึงแก่ความตาย โดยที่หมายฟันที่คอซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญโดยแรงเป็นบาดแผลฉกรรจ์ ถ้าไม่รีบรักษาทันท่วงทีก็อาจถึงแก่ความตายได้นั้น กรรมย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนา การกระทำของจำเลยชี้ว่าจำเลยมีเจตนาหมายเอาให้ตาย แต่พอดีผู้เสียหายไม่ตาย จำเลยจึงผิดฐานพยามยามฆ่า มิใช่ทำร้ายร่างกาย"ความยินยอมไม่ทำให้เป็นการละเมิด" : มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2510 นายน่วม เหตุทองเป็นโจทก์ นายน่วม เหตุทองเป็นจำเลย ความว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มีดฟันทำร้ายโจทก์ จนโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติเกินกว่ายี่สิบวัน กับทั้งแขนอาจพิการตลอดชีวิต จำเลยว่า โจทก์เสพสุรามึนเมาแล้วอวดอ้างว่าเป็นผู้อยู่คงกระพันฟันไม่เข้า ขอให้จำเลยลองฟัน จำเลยไม่ควรต้องรับผิด ศาลมณฑลทหารบกที่ 5 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกาย ศาลฎีกาว่า การที่โจทก์ท้าให้จำเลยฟันเช่นนั้นเป็นการที่โจทก์ได้ยอมหรือสมัครใจให้จำเลยทำต่อร่างกายตน และเป็นการยอมรับผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเองแล้ว ตามกฎหมายจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย กลับคำพิพากษา
"ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนให้" : มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 844/2511 ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโรงงานน้ำตาลเจริญผลโดยนายศักดิ์ชัย แซ่ตั้ง หุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นโจทก์ กับนายไพศาล ชนะศรีวนิชชัย และนายดำรง ชนะศรีวนิชชัย เป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ความว่า การซื้อทรัพย์จากผู้ที่มิใช่เจ้าของทรัพย์ย่อมมิได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น เพระผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
2. การพิเคราะห์โครงสร้างกฎหมาย วิธีนี้เห็นกันว่าดีกว่าวิธีก่อน เนื่องเพราะมีความแน่นอนกว่าการค้นหาหลักกฎหมายทั่วไปโดยใช้สุภาษิตเป็นเครื่องมือ เพราะบางครั้งสุภาษิตก็ใช้แก่บางประเทศหรือบางท้องที่มิได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999/2496 บริษัทยางจินฮง จำกัดเป็นโจทก์ และบริษัทซินฮั้วประกันภัย จำกัดเป็นจำเลย ความว่า โจทก์ฟ้องว่า ได้ประกันภัยปูนซิเมนต์ของบริษัทบรรทุกในเรือยนต์ชื่อ "ตรังกานู" จากจังหวัดพระนครไปยังจังหวัดสงขลา บัดนี้ เรือยนต์ตรังกานูอับปางลงในอ่าวไทยเพราะแนวเรือแตก หมันของเรือหลุดทำให้ไม้คิ้วเรือแยกออกจากทวนหัวเรือ ซึ่งนายช่างตรวจเรือว่าอาจมีสาเหตุจากการวิ่งฝ่าฟันคลื่นหรือไปกระแทกของแข็งเข้าก็เป็นได้ ยังผลให้ปูนซิเมนต์ดังประกันภัยไว้เสียหายไปด้วย แต่จำเลยกลับบิดพลิ้วไม่ใช้ค่าเสียหายตามจำนวนในกรมธรรม์ จึงขอให้ศาลบังคับ จำเลยแย้งว่า คำว่า "อันตรายทางทะเล" ตามกรมธรรม์นั้นหมายแต่ว่าเป็นอันตรายซึ่งเกิดจากคลื่นลมพายุที่มีมาอย่างหนักผิดปกติเป็นต้น ศาลฎีกาว่า กฎหมายทะเลของไทยในขณะนี้ยังไม่มี ทั้งจารีตประเพณีก็ไม่ปรากฏ เมื่อเกิดมีคดีขึ้นจึงควรเทียบวินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป และเมื่อกรมธรรม์นี้ทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษจึงควรถือกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษเป็นกฎหมายทั่วไปเพื่อเทียบเคียงวินิจฉัย ตามกฎหมายนั้น คำว่า "อันตรายทางทะเล" หรือ "ภยันตรายแห่งทะเล" ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า "peril of the sea" ย่อมหมายถึงภยันตรายใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเป็นวิสัยที่ท้องทะเลจะบันดาลได้ หาจำต้องคำนึงถึงว่าขณะนั้นทะเลเรียบร้อยอยู่หรือทะเลเป็นบ้าคลั่งอย่างใดไม่ พิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์
อ้างอิง : http://www.thailaws.com/aboutthailaw/thai_02.htm
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น